แผลในกระเพาะอาหาร น่ากลัวแค่ไหน

Last updated: 30 ก.ย. 2565  |  318 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แผลในกระเพาะอาหาร

แผลในกระเพาะอาหาร น่ากลัวแค่ไหน
แผลในกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะอาหาร โรคปวดท้องที่ทรมานของหลายคน และมักเป็นๆหายๆ แต่จริงๆแล้ว หลายครั้งโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ สำหรับผู้มีอาการผิดปกติ เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจหาความเสี่ยง หรือโรคที่อาจซ่อนอยู่ เพื่อรับการรักษา อย่างถูกวิธี

สาเหตุหลัก ของ แผลในกระเพาะอาหาร
สาเหตุที่ทำให้เกิด แผลในกระเพาะอาหาร คือ กรดและน้ำย่อย ที่หลั่งออกมาทำลาย เยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ ยาแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูก และ ข้ออักเสบ การสูบบุหรี่ ความเครียด อาหารเผ็ด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์

ปัจจุบันพบว่า เชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร - Helicobacter pylori หรือเอช ไพโลไร - H. pylori เป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ เกิดแผลในกระเพาะ ทำให้แผลหายช้า หรือทำให้แผลที่หายแล้ว เกิดเป็นซ้ำได้อีก รวมทั้งยังเพิ่มโอกาส ในการเกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อีก 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ติดเชื้อดังกล่าว

ตำแหน่งที่พบแผลได้บ่อย
คือ กระเพาะอาหาร - Gastric Ulcer : GU มักพบที่ กระเพาะอาหารส่วนปลาย พบมากในคนอายุ 40-70 ปี และแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น - Duodenal Ulcer : DU พบได้บ่อยในทุกอายุตั้งแต่ 20-70 ปี

อาการของ แผลในกระเพาะอาหาร มีดังต่อไปนี้
  พบบ่อยที่สุดคือ ปวดท้อง หรือ จุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือท้องช่วงบน มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือ เวลาหิว หรือ ปวดแน่นท้องกลางดึก หลังจากหลับไปแล้ว
  อาการปวด จะเป็นมากขึ้น หลังทานอาหาร โดยเฉพาะ อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
  อาการปวดมักเป็นๆ หายๆ เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลายเดือน จึงกลับมาปวดอีก
  บางรายไม่ปวดท้อง แต่จะมี อาการอืดแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง บริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ กลางท้องรอบสะดือ ท้องอืดหลังกินอาหาร มีลมมาก ท้องร้องโครกคราก
  อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย หลังอาหาร หรือช่วงเช้ามืด
  อาจมีน้ำหนักลด ซีดลง

ภาวะแทรกซ้อนของ แผลในกระเพาะอาหาร มีอะไรบ้าง?
ภาวะแทรกซ้อนพบได้ประมาณร้อยละ 25-30 ได้แก่
  เลือดออกในกระเพาะอาหาร พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หรือหน้ามืด หรือมาด้วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เกิดจากเสียเลือดจากแผลเปปติกทีละน้อยอย่างเรื้อรัง
  กระเพาะอาหารทะลุ มีอาการปวดท้องช่วงบนเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก
  กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยจะอิ่มเร็ว อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การวินิจฉัย แผลในกระเพาะอาหาร ทำได้อย่างไร?
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการใช้ยาแก้ปวด การตรวจร่างกาย และทำการทดสอบต่างๆ ได้แก่
  การส่องกล้อง ทางเดินอาหารส่วนบน - Esophago-Gastro-Duodenoscopy : EGDDuodenoscopy : EGD และตัดชิ้นเนื้อ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ H. pylori
  ทดสอบการติดเชื้อ H. pylori นอกไปจากการส่องกล้อง ทำได้หลายแบบ เช่น ทางลมหายใจ ทางอุจจาระ หรือทางเลือด

การป้องกัน และ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ได้อย่างไร?
  หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการ ติดเชื้อเอช ไพโลไร ซึ่งติดต่อผ่านการบริโภคอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ป้องกันโดยการกินอาหาร ที่สะอาดปรุงสุก ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือให้สะอาด
  งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ งดสูบบุหรี่ อย่างเด็ดขาด เพราะมีผลให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอ ทำให้แผลหายช้า และ เกิดแผลกลับเป็นซ้ำได้บ่อยมาก
  งดการใช้ ยาแก้ปวดแอสไพริน และ ยาต้านการอักเสบ ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ - NSAID
  ผ่อนคลายความเครียด และ วิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
  กินยาลดกรด หรือ ยารักษา แผลในกระเพาะอาหาร ติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อ เอช ไพโลไรด้วย
  ถ้ามีอาการของ ภาวะแทรกซ้อน ปวดท้องรุนแรง หรือ เบื่ออาหารน้ำหนักลดลงมาก ควรรีบไปพบแพทย์

ผู้ป่วย แผลในกระเพาะอาหาร กินอาหารแบบไหนได้บ้าง?
  กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่กินบ่อยมื้อ ไม่ควรกินจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
  ดื่มนมได้ถ้าดื่มแล้วท้องไม่อืด
  หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของดอง เพราะทำให้ระคายเคืองแผลมากและปวดมากขึ้น
  อาหารทอด หรือไขมันสูงเพราะย่อยยากจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารขยายตัวมากทำให้ปวดมากขึ้น
  งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อกโกแลต และงดน้ำอัดลมเพราะมีแก๊สมากกระเพาะขยายตัวทำให้ปวดมากขึ้นและกระตุ้นให้หลั่งกรดเพิ่มขึ้นด้วย
  หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนหรือเย็นจัด

ควรรับประทานอาหารแบบไหน เมื่อมีอาการปวดแน่นท้อง?
  ในรายที่ปวดรุนแรง อาจต้องกินเป็นอาหารเหลว ทุกชั่วโมง เช่น น้ำข้าว น้ำซุป น้ำเต้าหู้
  เมื่อดีขึ้น เริ่มกินโจ๊กได้
  เมื่อทุเลามากขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นข้าวต้ม และ ข้าวสวย ได้ตามลำดับ
  ถ้ามี อาการแน่นท้องมาก ควรกินวันละ 6 มื้อ โดยแบ่งปริมาณมาจาก มื้ออาหารปกติครึ่งหนึ่ง คือมื้อเช้าแบ่งเป็นเช้าและสาย มื้อกลางวันแบ่งเป็น กลางวัน และ บ่าย และมื้อเย็นแบ่งเป็นเย็นและค่ำ รวมเป็น 6 มื้อ (แต่ละมื้อให้กินปริมาณอาหารน้อยลง แต่กินให้บ่อยขึ้น)


แผลในกระเพาะอาหารจะกลายเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารได้หรือไม่?
โรคแผลในกระเพาะอาหาร จะไม่กลาย เป็นมะเร็ง นอกจากจะเป็นแผลชนิด ที่เกิดจาก มะเร็งของกระเพาะอาหาร เอง ตั้งแต่เริ่มแรกโดยตรง

เนื่องจากอาการเริ่มแรกของ โรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร และ แผลในกระเพาะอาหาร จะคล้ายกันมาก ไม่สามารถแยกจากกันได้ โดยการซักประวัติ หรือตรวจร่างกาย จึงจำเป็นต้องได้รับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

อาการที่บ่งชี้ว่าอาจม ีโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ได้แก่ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมาก ซีดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระดำ หรือ อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมาก และเป็นติดต่อกันเป็นวัน ในคนสูงอายุ หรืออายุมากกว่า 45 ปี ที่เริ่มมีอาการครั้งแรกของ โรคกระเพาะอาหาร หรือผู้ที่มีอาการมานานแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงของอาการ เช่น ปวดท้องรุนแรงขึ้น ในภาวะต่างๆ เหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

แผลในกระเพาะอาหาร จะหายขาดหรือไม่?
  หายได้ แต่กลับเป็นใหม่ได้ ถ้าไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัว และการใช้ยาบางอย่าง
  สำหรับผู้ป่วย โรคแผลในกระเพาะอาหาร ที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อ H. pylori วิธีบรรเทาอาการของโรคคือ ปฏิบัติตัวตามหลักการที่ได้กล่าวไว้แล้ว บางรายอาจต้องใช้ยาติดต่อเป็นระยะเวลาหลายเดือนเพื่อควบคุมไม่ให้มีอาการ
  สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อ H. pylori ร่วมด้วย พบว่าหลังจากที่กำจัดเชื้อ ได้แล้ว มีโอกาสหายขาดได้ ยกเว้นจะรับเชื้อ เข้าสู่ร่างกายใหม่ หรือมีเหตุอื่นที่ทำให้เกิดแผลอีก

แผลในกระเพาะอาหาร เมื่อรักษาแผลหายแล้ว ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หากมีอาการควรไปพบแพทย์ อาจต้องทำการ ส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อหาสาเหตุ และ วางแผนการรักษาต่อไป และควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี เพื่อหาความผิดปกติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีก

HASHI-GRD นวัตกรรมใหม่ของ GRD เพื่อการบำบัดรักษา โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร อาการจุกแน่น ท้องอืดโดยไม่ใช้ยา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้