โรคกรดไหลย้อน อันตรายหลังจากการทานอาหาร

Last updated: 11 ก.ค. 2565  |  482 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรดไหลย้อนอันตรายหลังกินอาหาร

โรคกรดไหลย้อน อันตรายหลังจากการทานอาหาร

โรคกรดไหลย้อน เป็นภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้เป็นกรดไหลย้อน หรือก่อให้เกิดพยาธิสภาพของหลอดอาหารขึ้น

อาการสำคัญหลักๆของโรคกรดไหลย้อน


ได้แก่ ความรู้สึกแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ขึ้นมาที่หน้าอกและคอ อาการนี้จะเป็นมากหลังรับประทานอาหารมื้อหนัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก และการนอนหงาย

อาการสำคัญอีก 1 ประการ

ได้แก่ การมีน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก อาการเหล่านี้พบได้บ่อยในคนตะวันตก แต่ในคนไทยส่วนใหญ่อาการแสบร้อน ที่บริเวณหน้าอกพบได้ไม่บ่อย และไม่รุนแรงเท่าชาวตะวันตก ผู้ป่วยมักมีอาการเรอ และมีน้ำเปรี้ยวขึ้นมาในปาก ในผู้ป่วยที่มีการขย้อนน้ำ และอาหารขึ้นมาขั้นรุนแรง อาจทำให้เกิดการสำลักเข้าไปในปอด จนเกิดอาการปอดอักเสบได้

อาการอื่นที่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่น


ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร เจ็บหน้าอก จุก คล้ายมีอะไรติดหรือขวางอยู่บริเวณคอ ต้องพยายามกระแอมออกบ่อยๆ อาการหืดหอบ ไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอ อาการเหล่านี้เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียงทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง

โรคกรดไหลย้อนมีอาการแตกต่างจากโรคกระเพาะอาหารยังไง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดแน่นท้อง แสบท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีการถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดได้ ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารมักไม่มีอาการแสบร้อนหน้าอกขึ้นมาถึงคอ เหมือนผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเรอบ่อย และมีน้ำขย้อนขึ้นมาได้บ้างหลังทานอาหารอิ่มใหม่ๆ ทำให้เกิดความลำบากในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วยบางราย

ทั้งนี้ พฤติกรรมการทานอาหารและการดำเนินชีวิตก็มีผลทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้ เช่น

การดื่มน้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม น้ำผลไม้ หรืออาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด อาหารไขมันสูง ช็อกโกแลต สุรา รวมทั้งการสูบบุหรี่ เราควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมาก และไม่ควรนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร โดยรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง ควรรับประทานอาหารปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปหรือรัดเข็มขัดแน่นจนเกินไป ระวังน้ำหนักตัวไม่ให้มากหรืออ้วนเกินไป

ผู้ป่วยที่มีอาการสำคัญออกมาชัดเจน สามารถให้การรักษาเบื้องต้นได้เลย ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการสำคัญออกมาชัดเจน มีอาการอื่นร่วม หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยเป็นพิเศษเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การเอ็กซเรย์กลืนสารทึบแสง การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การตรวจพิเศษสำหรับโรคกรดไหลย้อนโดยเฉพาะ ได้แก่ การตรวจการบีบตัวของหลอดอาหารและการตรวจวัดความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร ซึ่งให้ผลจำเพาะในการวินิจฉัยโรคที่สุด

ถ้าปฏิบัติตัวเบื้องต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องรับประทานยาร่วมด้วย

ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่ใช้รักษาโรคนี้ เช่น ยาเคลือบและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยากลุ่มนี้จะช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะอาหารและใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง หรือ มีอาการแสบหน้าอกเป็นครั้งคราว อีกกลุ่มคือ ยาลดการหลั่งกรด ยาในกลุ่มนี้ต้อง มีการปรับเปลี่ยนขนาดของยา และระยะเวลาในการรักษาอย่างใกล้ชิด จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ส่วนยาเพิ่มการบีบตัวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร อาจได้ผลในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการท้องอืดแน่นท้องร่วมด้วย

ในปัจจุบันการรักษาด้วยยามักให้ผลการรักษาที่ดี แต่ต้องรับประทานยาเป็นเวลานานกว่า การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารทั่วไป และเมื่อหยุดยาผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีอาการกลับขึ้นมาใหม่ การผ่าตัดรักษาในปัจจุบัน จึงอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ลดอาการเจ็บ จากการผ่าตัดได้ดีขึ้น และได้ผลการผ่าตัดที่ดี

การผ่าตัดมีข้อแนะนำในผู้ป่วยดังต่อไปนี้

ผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานาน แต่ไม่สามารถควบคุมอาการหรือหยุดยาได้และมีผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยอายุน้อยที่จำเป็นต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน และผู้ป่วยที่มีผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรค เช่น อาการสำลักอาหารและน้ำย่อยเข้าไปในปอดบ่อยๆ โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก

HASHI-GRD-URD-PRD นวัตกรรมใหม่เพื่อการบำบัดรักษา โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร อาการจุกแน่น ท้องอืด อย่างได้ผล โดยไม่ใช้ยา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้